ชั่วโมงเซียน -หลวงปู่หลิว ปณฺณโกเทพเจ้าแห่ง 'พญาเต่าเรือน' วัดไร่แตงทอง

จากบันทึก อีกหน้าหนึ่งในอดีต บรรดาวัตถุมงคล ตลอดจนเครื่องรางต่างๆ ในเมืองไทยต่างประเทศ วัตถุมงคลที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ พญาเต่าเรือน
โดยเฉพาะที่ประเทศจีน มีมานาน ถึงการคำนวณทางโหราศาสตร์ โดยการใช้ กระดองเต่า ในการทำนาย

ขณะเดียวกัน ในเมืองไทยก็พบหลักฐานมากมายของการบูชา พญาเต่าเรือน เพราะด้วยความเป็นมงคลนั่นเอง

พญาเต่าเรือน เป็นที่นับถือกันว่า เป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งซึ่งให้คุณในทางเมตตามหานิยม และโชคลาภ

อีกทั้งยังมีความเชื่อกันว่า พญาเต่าเรือน คือ พระโพธิสัตว์ ผู้ช่วยมนุษย์ให้รอดจากอันตราย ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

คำว่า "เต่าเรือน" จึงเป็นนามของพระโพธิสัตว์เจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพญาเต่าเรือน คือ มีเต่าตัวใหญ่อย่างเรือน หรือบ้านเล็กๆ มีนามว่า “มหาจิตรจุล” อาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง

อยู่มาไม่นาน เกิดพายุเข้าบริเวณเกาะ จึงเป็นเหตุให้เรือสำเภาลำหนึ่ง ที่ผ่านมาในบริเวณนั้น เกิดอับปาง มีคนว่ายน้ำหนีตายมายังเกาะดังกล่าว เป็นจำนวนมาก ต่างขาดอาหารและน้ำ ชาวบ้านต่างคิดที่จะฆ่าพญาเต่าเรือนเพื่อกินเป็นอาหาร

ในครั้งนั้น พญาเต่าเรือนโพธิสัตว์ จึงคิดว่า ในเมื่อชาวบ้านต่างเดือดร้อน ถึงขนาดที่จะคิดฆ่าตัวเราเอาเป็นอาหาร เพื่อความอยู่รอด พญาเต่าเรือนโพธิสัตว์มีจิตอนุเคราะห์ จึงกลิ้งตัวจากภูเขา หมายที่จะบริจาคทานด้วยเลือดและเนื้อของตน จึงทำให้กระดองแตกตายในที่สุด 

ด้วยอานุภาพแห่งมหาทานอันยิ่งใหญ่ ในครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของ คาถาพญาเต่าเรือน คือ “นา สัง สิ โม”

เกจิอาจารย์ หรือผู้ที่ศึกษาพระเวท จะต้องศึกษาเป็นปฐมบททั้งสิ้น ด้วยเหตุที่ พระคาถานี้มีอานุภาพด้านเมตตามหานิยม เกจิอาจารย์ต่างๆ ในอดีต จึงนำมาเขียน และสักยันต์ตามตัว รวมทั้งทำเครื่องรางไว้ใช้

ด้วยเหตุที่ว่า สารพัดใช้ ตามอธิษฐาน วิเศษนัก เป็นได้ทุกอย่าง เช่น ทำให้มีโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสาย ค้าขายเจริญก้าวหน้า มีภัยมาจะทำให้ปลอดภัย คำว่าอดไม่มี และเป็นมงคลแก่ผู้บูชายิ่งนัก

การทำเครื่องราง พญาเต่าเรือน ตามหลักฐานที่พบมาแต่โบราณ เดิมทีนั้น ใช้กระดองเต่าตายซาก หรือตายเอง ถือเป็นหลัก โดยห้ามฆ่า เกจิอาจารย์ผู้เรืองเวทจะลงอักขระต่างๆ ที่กระดองเต่า

ได้แก่อักขระพญาเต่าเรือน ที่ด้านล่างกระดองเต่า และอักขระพระเจ้าห้าพระองค์ ที่ด้านหลังกระดองเต่า ตามด้วยหัวใจ “นา สัง สิ โม”

จากนั้นนำไปปลุกเสก เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว ให้เอาไปปิดทอง จึงเป็นที่มาของ “พญาเต่าทอง” ซึ่งเป็นของหายาก มีความสำคัญประจำบ้านเรือน

รวมทั้งสามารถป้องกันภัยพิบัติอันตรายทุกประการ ทั้งโจรภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ กระดองเต่าตายซาก หรือตายเอง เป็นของหายาก และหาไม่ได้ เกจิอาจารย์ในอดีตจึงใช้วิธีเขียนอักขระบนแผ่นโลหะ และผ้ายันต์ เป็นรูป พญาเต่าเรือน แล้วนำไปปลุกเสกอีกครั้ง

พญาเต่าเรือน ที่พระเกจิอาจารย์ในอดีตสร้าง และเกิดปาฏิหาริย์ จนมีเรื่องเล่ามากมาย ในวงการพระเครื่องต้องยกให้ พญาเต่าเรือน ของ หลวงปู่หลิว ปณฺณโก แห่ง วัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

ถึงกับมีการตั้งสมญานามว่าท่านเป็น "เทพเจ้าพญาเต่าเรือน" เลยทีเดียว

หลิว แซ่ตั้ง (นามถาวร) เป็นชื่อและสกุลเดิมของ หลวงปู่หลิว ปณฺณโก ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๔๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย (ปีมะเส็ง)

ท่านได้เข้าบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาอุโบสถ วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี (ประมาณเดือน ๗ ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ.๒๔๗๕) โดยมี หลวงพ่อโพธาภิรมย์ วัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์ห่อ วัดโบสถ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “ปณฺณโก” (อ่านว่า ปัน-นะ-โก)

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่หลิว ได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เพื่อเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม และปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานควบคู่กันไป ทั้งยังความสะดวกสบายกว่าที่อื่นๆ เพราะมีญาติพี่น้องให้ความอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิด

ในพรรษาแรก หลวงปู่หลิวได้มีโอกาสใช้วิชาช่างช่วยท่านเจ้าอาวาสสร้างศาลาการเปรียญหลังหนึ่ง ซึ่งใหญ่มากจนสำเร็จ ท่านมีพรสวรรค์ทางเชิงช่างเป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับของครูบาอาจารย์ และญาติโยม ชาวบ้าน เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภายหลังจะเห็นได้ว่า การก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของหลวงปู่หลิวทั้งสิ้น

หลวงปู่หลิว ปณฺณโก นับเป็นผู้ทรงอภิญญา และมีพุทธาคมสูงส่ง ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตา พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่านพร้อมที่จะสร้าง และพร้อมที่จะเสียสละ ให้แก่บวรพุทธศาสนา

ท่านไปอยู่ยังที่แห่งใด ก็เปรียบเสมือนดวงประทีปของที่นั่น จนท่านได้ชื่อว่า พุทธบุตร ที่ทุกคนยกย่อง

ในช่วงที่หลวงปู่หลิวยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ บูรณปฏิสังขรณ์ สร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โดยมิได้หยุด

ทั้งนี้ หลวงปู่หลิว ได้เคยตั้งปณิธานด้วยสัจจะ ๒ ประการ คือ ๑.ลดเลิกอบายมุขทุกชนิด ๒.เมื่อมีโอกาสจะสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

ท่านมีอุปนิสัยถือสันโดษ ดำรงตนแบบเรียบง่าย และมีอารมณ์ขัน

เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๓ เวลา ๒๐.๓๕ น. ท่านได้ละสังขารอย่างสงบ ที่กุฏิ วัดหนองอ้อ สิริรวมอายุ ๙๕ ปี พรรษา ๗๔

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่าน ทางวัดโดย พระใบฎีกาสายชล เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง รูปปัจจุบัน และคณะศิษย์ จึงได้ร่วมกันสร้างรูปเคารพ  หลวงปู่หลิว ประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง ๘.๕๐ เมตร พร้อมกับสร้างวิหารครอบ

การก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘ เหลือแต่ในส่วนของตัววิหารครอบ ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วประมาณ ๗๐% โดยปัจจุบัน มีลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบไหว้ และลอดใต้รูปเหมือนนั่งเต่า กันเป็นจำนวนมาก ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด จนกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของเมืองนครปฐม ที่ผู้คนนิยมมาแก้บนกันอย่างคึกคัก  

ที่มา คมชัดลึก

Share on Google Plus

About Chalamnoi

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น